อุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านที่ต้องต่อลง...
ReadyPlanet.com


อุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านที่ต้องต่อลงดิน


1.อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ยึดติดกับที่และต่ออยู่กับสายไฟฟ้าที่ติดตั้งถาวร ส่วนที่เป็นโลหะเปิดโล่งซึ่งปกติไม่มีไฟฟ้า แต่อาจมีไฟฟ้ารั่วถึงได้ต้องต่อลงดิน เช่น เครื่องปรับอากาศที่มีส่วนโลหะสามารถสัมผัสได้ และอยู่ในสภาพตามข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ ต้องต่อลงดิน อยู่ห่างจากพื้นหรือโลหะที่ต่อลงดินไม่เกิน 2.4 เมตร ในแนวตั้ง หรือ 1.5 เมตร ในแนวนอน ซึ่งเป็นระยะห่างที่บุคคลเอื้อมถึงและอาจสัมผัสได้ ยกเว้นมีวิธีการติดตั้ง หรือการป้องกันอย่างอื่นที่ป้องกันบุคคลสัมผัสโดยไม่ตั้งใจได้ ก็ไม่ต้องต่อลงดิน สัมผัสทางไฟฟ้ากับโลหะอื่นที่บุคคลอาจสัมผัสได้เช่น โครงสร้างโลหะของอาคาร อยู่ในสถานที่เปียก หรือชื้น และไม่ได้มีการแยกให้อยู่ต่างหาก

2.เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ปลั๊กเต้าเสียบในบ้านพักอาศัย ส่วนที่เป็นโลหะเปิดโล่งของอุปกรณ์ไฟฟ้าซึ่งปกติไม่มีไฟฟ้าไหลผ่านแต่จำเป็นต้องต่อลงดิน เช่น ตู้เย็น ,เครื่องซักผ้า ,กระติกน้ำร้อน เป็นต้น ยกเว้นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ระบุว่าเป็นชนิดฉนวน 2 ชั้น (Double Insulation) ซึ่งสังเกตได้จากสัญลักษณ์รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกัน ที่ไม่จำเป็นต้องต่อลงดิน  ปัจจุบันเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิดมีการเดินสายดินมาให้พร้อมเต้าเสียบแบบ 3 ขา ซึ่งสามารถใช้กับเต้ารับ 3 รูที่มีการเดินสายดินไว้ได้เลย แต่ก็มีเครื่องใช้ไฟฟ้าอีกหลายชนิดที่ต้องติดตั้งสายดินแยกออกมาต่างหาก ซึ่งผู้ใช้อาจต้องซื้อสายไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อใช้สำหรับเป็นสายดิน

ตัวอย่างการต่อลงดินที่ไม่ถูกต้อง

1.การปักหลักดินที่อุปกรณ์ไฟฟ้าโดยไม่เดินสายดินกลับมาที่แผงเมนสวิตช์ การต่อลงดินลักษณะนี้มักเป็นที่เข้าใจผิดว่าเป็นวิธีการต่อลงดินที่สามารถทำได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วแม้ว่าจะสามารถป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าดูดได้ แต่อาจทำให้อุปกรณ์ป้องกันกระแสเกินไม่ทำงานหรือทำงานช้า เพราะในกรณีที่อุปกรณ์ไฟฟ้าเกิดลัดวงจรมีไฟรั่ว กระแสไฟฟ้าจะไหลลงหลักดินที่ปักไว้ที่อุปกรณ์ไฟฟ้าและไหลผ่านทางดินกลับไปต้นทาง แต่ความต้านทานของดินจะมีความต้านทานสูงกว่าการใช้สายไฟฟ้าเป็นสายดินมาก กระแสไฟฟ้าจึงไหลผ่านได้น้อย เครื่องป้องกันกระแสเกินจึงอาจไม่ทำงานปลดวงจร หรืออาจใช้เวลานานมากกว่าจะปลดวงจร

2.  การใช้สายดินของอุปกรณ์ไฟฟ้าต่อฝากกับตะปูที่ตอกอยู่กับผนัง หรือต่อกับโครงสร้างโลหะของอาคาร ให้ผลเช่นเดียวกับข้อ 1 แต่ความต้านทานของการต่อลงดินอาจยิ่งสูงกว่าการต่อกับหลักดินที่อุปกรณ์โดยตรง ซึ่งจะยิ่งทำให้การทำงานของอุปกรณ์ป้องกันกระแสเกินไม่สมบูรณ์มากขึ้นกว่าการต่อแบบในข้อ 1.

3.  การใช้ท่อโลหะหรือส่วนของรางเคเบิลแทนสายดิน โดยทั่วไปแล้วท่อโลหะหรือรางเคเบิลมักทำจากเหล็ก ซึ่งเป็นโลหะที่มีค่าความต้านทานสูงกว่าทองแดงที่เป็นตัวนำไฟฟ้าของสายดิน จึงอาจทำให้อุปกรณ์ป้องกันกระแสเกินทำงานไม่สมบูรณ์เช่นกัน ดังนั้นมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าจึงไม่อนุญาตให้ใช้ท่อโลหะหรือรางเคเบิลแทนสายดิน

4.  การเลือกใช้สายดินขนาดเล็กเกินไป สายดินขนาดเล็กเกินกว่าที่มาตรฐานกำหนดอาจมีความต้านทานสูงเกินไปทำให้ไม่สามารถนำกระแสไฟรั่วปริมาณมากได้เต็มที่ อาจทำให้ยังคงมีอันตรายจากไฟรั่วอยู่

 



ผู้ตั้งกระทู้ เจริญ :: วันที่ลงประกาศ 2020-06-28 09:53:11


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล